วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส http://areenee.siam2web.com/

ธุรกิจซอฟต์แวร์ & กฎหมายลิขสิทธิ์

สืบเนื่องจากความพยายามในการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อให้มีความทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ในการรวบรวมความคิดเห็นเพื่อประกอบแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในการรวมกำหนดแนวทางป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยตัวแทนของสมาคมได้เสนอแนวทางที่เป็นจุดยืน ๗ ประเด็น ในการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทย ประกอบด้วย

1. แบบของการละเมิดธุรกิจซอฟต์แวร์ มีรูปแบบของการกระทำที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้หลายรูปแบบ เริ่มจากการทำสำเนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่ายหรือที่รู้จักดีในชื่อ แผ่นก็อปปี้, การละเมิดด้วยการบันทึกลงในเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมจำหน่าย, การทำซ้ำภายในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน กรณีนี้เป็นการละเมิดที่รุนแรงที่สุดคิดเป็นการละเมิดร้อยละ ๕๐ ของความเสียหายในการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งหมด และรูปแบบการละเมิดที่กำลังมาแรงที่สุดด้วยการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์จากอินเทอร์เน็ต

2. บทลงโทษ เมื่อเปรียบเทียบทรัพย์สินทางปัญญาที่แลกมาด้วยความรู้ความคิด สร้างสรรค์ การปรับเพียง ๘ แสนบาท สำหรับผู้ที่กระทำความผิดเป็นวงเงินที่น้อยเกินไปสำหรับการที่จะทำให้คนทำผิดเข็ดหลาบ ดังนั้นควรที่จะมีบทลงโทษที่มากขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายจะป้องกันงานที่ทำซ้ำในระยะเวลา ๕ ปี เป็นเวลาที่นานเกินไป เนื่องจากการพัฒนาซอฟต์แวร์มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้งระยะเวลาที่คุ้มครองน่าจะสั้นกว่าเดิม การลงโทษก็ควรที่จะดำเนินการจริงจังให้ถึงตัวผู้ที่กระทำความผิดอย่างแท้จริง และประเด็นที่กำลังถกเถียงมากที่สุดคือ เจ้าของสถานที่ที่มีการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ควรมีส่วนรับผิดชอบด้วย โดยเฉพาะเจ้าของสถานที่ที่รู้ว่า มีการจำหน่าย และประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณาในกฎหมายฉบับใหม่คือ การเอาผิดกับผู้ซื้อที่ทางสมาคมฯ เห็นว่า ถ้าผู้ซื้อรู้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้ซื้อน่าจะมีส่วนรับผิดชอบ

3. บทบาทของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มีการพบว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บางกรณีไม่ได้บันทึกซอฟต์แวร์ลงในหน่วยความจำหลักของเครื่องแต่นำมาเก็บไว้ในหน่วยความจำชั่วคราว เพื่อใช้ซอฟต์แวร์ทำงาน เมื่อทำเสร็จผู้ละเมิดจะลบซอฟต์แวร์ทิ้ง หรือบางกรณีมีการเก็บซอฟต์แวร์ไว้ในเครื่องแม่ข่ายกลาง และทำการดาวน์โหลด หรือเรียกออกมาเพื่อใช้งาน พบมากในองค์กรธุรกิจที่มีจำนวนเครื่องลูกข่ายจำนวนมาก วิธีนี้หากไม่มีการควบคุมการขยายตัวของเครื่องแม่ข่ายจะทำให้การละเมิดรุนแรงมากขึ้น และหากในอนาคตอินเทอร์เน็ตมีความรวดเร็วในการบริการมากขึ้นจะให้การกระทำผิดมีมากขึ้นด้วย

4. เนื้อหาที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางคุ้มครองลิขสิทธิ์ สำหรับเนื้อหาที่อยู่ในเว็บไซต์ การเติบโตของการบริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และ

E-Learning เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง หากไม่มีการปกป้องบริการเนื้อหาผ่านเว็บไซต์

5. เทคโนโลยีป้องกัน ปัจจุบันการเก็บหลักฐานในการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จากเครือข่ายยังไม่สามารถทำได้ ทำให้มีกำเนิดของเทคโนโลยีป้องกันที่เรียกว่า Technology Rights Management และเทคโนโลยีป้องกันที่ฝังไว้กับเนื้อหา รวมถึงระบบการบันทึกการทำงานของหน่วยความจำชั่วคราว เพื่อเก็บหลักฐานว่า มีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่อย่างไร

6. องค์กรจัดเก็บ สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์คงไม่มีความจำเป็นต้องมีองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เหมือนกับทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น เมื่อการจำหน่ายเกิดขึ้นแล้วจึงเป็นหน้าที่ขององค์กรเอกชนเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะหาทางพิทักษ์สิทธิ์ และเมื่อพบว่า มีการกระทำความผิดจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ

7. บทบาทของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ไอเอสพี หรือ บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ควรมีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มีการละเมิดบนอินเทอร์เน็ต ในฐานะผู้ให้เช่าพื้นที่สำหรับเว็บไซต์

ทั้ง ๗ ข้อเป็นปัญหาที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หากต้องการให้มีการพัฒนาต่อไปอย่างมีศักยภาพ จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการละเมิดหมดไป หรืออย่างน้อย ให้เบาบางลงมากที่สุด หากได้รับการตอบสนองในข้อเสนอที่เสนอข้างต้น สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เชื่อว่า จะประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกอบการในธุรกิจซอฟต์แวร์ ประเด็นที่กังวลคือ การตอบรับข้อเสนอเหล่านี้ ยังไม่มีความชัดเจนในระดับนโยบายนัก ในทางปฏิบัติข้อเสนอบางข้อไม่สามารถกำหนดออกมาเป็นกฎหมายรวมกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ความเห็นของนักธุรกิจในวงการผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตท่านหนึ่ง แสดงความกังวลถึงการคุ้มครองเนื้อหาที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์บนเว็บไซต์ ที่ยังไม่มีความชัดเจน ในส่วนของกฎหมายยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต ขณะที่ในทางปฏิบัติไม่มีกำหนดว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเนื้อหาในเว็บไซต์ มีการเกี่ยงกันระหว่างเจ้าของเว็บไซต์หรือเว็บมาสเตอร์ ที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ไอเอสพีผู้ให้บริการพื้นที่สำหรับเว็บไซต์ ที่เคยได้แสดงความเห็นในการประชุมกรรมการไอเอสพีว่า หากต้องมารับผิดชอบการกระทำหน่วยงานกำกับอย่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ก็ควรจะมีส่วนรับผิดชอบด้วย ในที่สุดประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจน

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไม่ได้บรรจุเอาไว้ในข้อเสนอ ๗ ข้อ คือ ปัญหาการละเมิดชื่อที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต หรือโดเมนเนม ปัญหาการละเมิดโดเมนเนมกำลังเริ่มขยายวงแบบเงียบๆ แต่ไม่มีใครออกมาหาทางป้องกัน ถ้าเปรียบชื่อโดเมนเนมของเว็บไซต์ที่ทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต มีความสำคัญเท่ากับชื่อยี่ห้อ หรือชื่อขององค์กรห้างร้าน โดเมนเนมย่อมจะมีความสำคัญไม่น้อยในการทำธุรกิจ และเมื่อโดเมนเนมเกี่ยวข้องกับการทำการค้า คนที่รับผิดชอบน่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังการปฏิรูประบบราชการ คาดว่าจะชื่อกระทรวงการค้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในทางปฏิบัติผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ยังชี้ชัดไม่ได้ว่า หน่วยงานใดต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องของโดเมนเนม ถ้าเป็นเรื่องการค้าก็ควรเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้า แต่ควรจะเป็นการค้าภายในประเทศหรือต่างประเทศ ในเมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นของไร้พรมแดนที่ขายได้ตั้งแต่เชียงใหม่ถึงชิคาโก้ ส่วนถ้าจะให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดูแล ก็ดูเหมือนโดเมนเมนมจะไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์เท่าไร ฟังดูแล้วเหมือนกันว่า กฎหมายไทยยังไม่ได้ตั้งรับการเติบโตของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในทุกวันนี้ ในระหว่างความกังวลนี้เองได้มีผู้เกิดความคิดขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีกฎหมายเฉพาะที่เข้ามากำกับดูแลและป้องกันการละเมิดการกระทำความผิดด้วยเทคโนโลยี ทั้งซอฟต์แวร์ อินเทอร์เน็ต หรือโดเมนเนม โดยกฎหมายนี้ไม่เกี่ยวกับกฎหมายไอทีที่กำลังทำอยู่ แต่เป็นกฎหมายที่ให้ความชัดเจนในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิ์อันชอบธรรม ผ่านช่องทางเทคโนโลยีที่มีอยู่

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 5,043 Today: 8 PageView/Month: 63

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...